แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก

การทำเกลียวในงานพลาสติก (Thread)

การทำเกลียวในงานผลิตพลาสติก



ชิ้นส่วนเทอร์โมพลาสติก สามารถทำให้มีเกลียวนอกและเกลียวในได้อย่างประหยัด ด้วยเทคนิคการฉีดพลาสติกแบบต่างๆ ช่วยลดการทำงานที่ต้องตัดเกลียวของชิ้นงานกึ่งสำเร็จ เมื่อต้องการเกลียวจากการฉีดพลาสติก จะต้องระมัดระวังในการออกแบบแม่พิมพ์ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดปัญหาในการปลดชิ้นงานไม่ออกเนื่องจาก Undercut
ชิ้นงานที่่มีเกลียวนอก สามารถฉีดได้ในแม่พิมพ์ที่มีอุปกรณ์คลายเกลียวนอก (Thread-unscrewing)อย่างไรก็ตาม ชิ้นงานจำนวนมากที่มีเกลียวนอก ก็สามารถฉีดด้วยแม่พิมพ์ที่สร้างในราคาที่ถูกกว่านั่นคือ เส้นแบ่งของแม่พิมพ์ (Parting Line) จะอยู่ในตำแหน่งเส้นศูนย์กลาง (Center Line) ของเกลียว (ตามภาพด้านล่าง)

thread plastic

ชิ้นงานที่มีเกลียวใน สามารถฉีดโดยแม่พิมพ์ที่ติดตั้งอุปกรณ์คลายเกลียว แกนที่ยุบได้ (Collapsible- Core) หรือใช้มือหมุนชุดเกลียว (Thread Insert) ซึ่งถอดออกจากแม่พิมพ์พร้อมกับชิ้นงานแล้วจึงหมุนคลายเกลียวถอดออกจากชิ้นงาน และจึงฝส่ Thread Insert กลับเข้าไปอีกครั้ง แกนที่ยุบได้บางครั้งอาจไม่ต้องใช้อุปกรณ์คลายเกลียวThread Insert กับการฉีดเกลียวที่มีรูปร่างหน้าตัดกลม ขึ้นอยู่กับเกรดพลาสติกที่ใช้และอุณหภูมิที่ใช้ ในบางกรณีก็อาจเป็นได้ที่จะถอดเกลียวที่ฉีดออกจากแม่พิมพ์ โดบปลดจาก Core ที่เป็นเกลียวนอกตื้นๆ แล้วไม่ทำให้ชิ้งานพลาสติกเสียหาย อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ต้องใช้แผ่นปลด Stripper Plate หรือเข็มกระทุ้ง Ejector Pin ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่

ความร้อนสะสมในชื้นงานพลาสติก Melt Accumulation

Melt Accumulation จุดสะสมน้ำพลาสติก



การออกแบบชิ้นงานพลาสติก ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนความหนาของหน้าตัด แต่หากต้องเปลี่ยนความหนา ด้วยเหตุผลทางด้านความแข็งแรงและประโยชน์ใช้สอยควรเปลี่ยนไปทีละน้อย การเปลี่ยนแปลงความหนาของหน้าตัดแบบหักมุม จะทำให้เกิดความเค้นเฉพาะจุด เมื่อรับแรงก็จะเกิดการร้าวเปรียบเสมือนเป็นรอยบากหรือทำให้แตกไว้ก่อนตรงบริเวณนั้น

จุดสะสมน้ำพลาสติกเป็นส่วนที่ใช้เวลานานในการหล่อเย็น จึงทำให้รอบการฉีดนานขึ้นด้วยและยังเป็นสาเหตุของการเกิดโพรงอากาศ(viod) ในภาพด้านล่างเป็นการแสดงให้เห็นการออกแบบโครงเพื่อเสริมความแข็งแรง โครงที่จัดวางเป็นกากบาก กรณีนี้จะเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างของการออกแบบ ให้เหมาะสมกับสภาพการฉีดพลาสติกและการรับแรง ชิ้นงานพลาสติกที่มีโครงจัดวางเป็นรูปกากบาท จะมีความแข็งแรงกว่าโครงสร้างที่จัดวางเยื้องกัน และทนแรงได้มากกว่า

จุดสะสมน้ำพลาสติก

จุดสะสมน้ำพลาสติก

ในภาพ C แสดงการออกแบบจุดตัดของโครงสี่เส้น ที่คำนึงถึงคุณสมบัติของพลาสติก และการรับแรงไปพร้อมๆกัน แบบนี้จะไม่มีจุดสะสมน้ำพลาสติก อีกทั้งความหนาของโครงและจุดเชื่อมต่อจะเท่ากัน ค่าใช้จ่ายในการทำแม่พิมพ์แบบนี้จะสูงขึ้นอีกมาก และต้องระวังเรื่องน้ำหนักของชิ้นงานเมื่อคำนึงถึงความประหยัด

ชิ้นงานหนึ่งที่มีความยากในด้านการออกแบบแม่พิมพ์และการฉีดพลาสติกคือ ภาชนะบรรจุเพื่อการขนส่งและลังวางขวด ซึ่งทำจากพลาสติก HDPE ภาชนะเหล่านี้ต้องทนแรงสูงที่เกิดจากการขนย้าย แรงกระแทก และความเค้นอัดเมื่อวางซ้อนกัน ในโรงงานเบียร์และเครื่องดื่มมักพบว่ามีการวางซ้อนกันสูงถึง4-5เมตร หรือมากกว่านั้น

ประมาณว่าความสูงของลังคือ 250 มม. และลังหนึ่งใบมีขวดวางเต็มจะมีน้ำหนัก 15 กก. เมื่อวางซื้อนกัน 18 ใบ ลังที่อยู่ใบล่างสุดต้องรับแรงได้ถึง 17×15=255 กก. การออกแบบที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เนื่องจากหากแม่พิมพ์ทำการผลิตขึ้นมาแล้ว หากไม่สามารถใช้งานและรับแรงได้จริงเท่ากับเป็นการสูญเปล่าทั้งเวลาและวัสดุ

พิมพ์ลายบนชิ้นงานพลาสติก In-Mould Labelling

In Mould Labellingการเพิ่มลวดลายบนชิ้นงานพลาสติก



ชิ้นงานพลาสติกที่ผ่านกระบวนการขึ้นรูปทั้งในระบบของงานฉีดพลาสติก,งานเป่าพลาสติกและงานเทอร์โมฟอร์มมิ่ง ล้วนแล้วแต่สามารถพิมพ์ลวดลายเพิ่มเติมได้ทั้งหมด กระบวนการพิมพ์ลายบนพลาสติกก็ได้มีการพัฒนาเพิ่มความสวยงาม,ทนทานต่อการใช้งานมากขึ้น วิธีที่นิยมใช้กันมากในอดีตคือการสกรีนสีลงบนชิ้นงานพลาสติก โดยจะทำเป็นบล็อกเพื่อสกรีนสีลงไปขนาดของบล็อกขึ้นอยู่กับจำนวนสีและรูปร่างของชิ้นงานที่จะสกรีน วิธีการนี้จะเสียเวลาในการจัดเตรียมชิ้นงานและค่อนข้างวุ่นวายมากหากพิมพ์หลายสี

ต่อมาจึงได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้การกดสี(Pad Print) โดยใช้วัสดุที่ให้ตัวได้ทำการกดที่เพลทสี และจึงนำไปกดที่ชิ้นงานอีกที (ลักษณะเหมือนปั๊มตรายาง)วิธีการนี้จะรวดเร็วกว่า วิธีสกรีนแต่ก็ยังถูกจำกัดด้วยจำนวนสี หากต้องการพิมพ์หลายๆสีจำต้องมีแผ่นเพลทตามจำนวนสีนั้นๆ อีกทั้งยังเสียเวลาและพื้นที่ในการจัดเก็บขณะรอให้สีแห้ง ซึ่งทั้งสองวิธีตามที่กล่าวมา เมื่อชิ้นงานพลาสติกถูกใช้งานไประยะเวลาหนึ่ง สีที่พิมพ์ไว้มีโอกาสหลุดลอกออก

จากข้อจำกัดเรื่องของสีจึงได้มีผู้พัฒนาโดยวิธีการพิมพ์ลวดลายลงบนฟิลม์พลาสติกก่อน แล้วจึงนำฟิลม์เข้าไปแปะในแม่พิมพ์ก่อนที่จะทำการฉีดพลาสติกหุ้มเข้าไป ตัวฟิลม์จะยึดติดกับผิวของแม่พิมพ์ด้วยไฟฟ้าสถิต ตำแหน่งในการวางฟิลม์จะต้องถูกต้องทุกครั้ง โดยส่วนมากจะใช้แขนกลเป็นตัวจับวางเพื่อให้ได้ตำแหน่งการวางที่แม่นยำและเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ปฎิบัติงาน ด้วยกระบวนการผลิตแบบนี้จะทำให้ได้ชิ้นงานพลาสติกที่มีสีสันสวยงามและไม่หลุดลอกจากการใช้งาน และวิธีการนี้ไม่เพียงใช้ได้กับการบวนการฉีดพลาสติก ยังสามารถใช้ได้กับงานเป่าพลาสติก,งานแวคคั่ม เทอร์โมฟอร์มมิ่งอีกด้วย อย่างไรก็ดีวิธีการนี้ไม่เหมาะกับการผลิตจำนวนน้อยๆ

การพิมพ์ลายบนพลาสติก

การพิมพ์ลายบนพลาสติก

การเพิ่มระยะการปลดชิ้นงานในแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก

แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกกับการปลดชิ้นงาน



ในการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก ผู้ออกแบบจำเป็นที่จะต้องต้องคำนึงถึงวิธีการปลดชิ้นงานเพื่อให้การฉีดพลาสติกเป็นได้อย่างต่อเนื่อง แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกที่ดีควรจะต้องสามารถปล่อยให้เดินได้อย่างอิสระ ซึ่งจะทำให้ผลิตชิ้นงานพลาสติกได้อย่างรวดเร็วและมีราคาไม่แพงเนื่องจากใช้ผู้ปฎิบัติงานน้อยลง อย่างไรก็ดีต้นทุนหลักๆของการผลิตแม่พิมพ์พลาสติกคือค่าวัสดุและค่าแรงงาน ในแม่พิมพ์พลาสติกขนาดเล็กค่าวัสดุสำหรับทำแม่พิมพ์อาจไม่แตกต่างกันมาก แต่ในแม่พิมพ์ขนาดใหญ่การลดเนื้อวัสดุลงได้ 5-10 มิลลิเมตร อาจทำให้ราคาแม่พิมพ์ถูกลงได้มาก

ระบบปลดชิ้นงานในแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกจะเป็นบริเวณที่จะต้องใช้วัสดุที่มีความหนาเพื่อทำเป็นขารองแม่พิมพ์ และยังเป็นที่ติดตั้งระบบปลดชิ้นงานอีกด้วย ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น หากการปลดชิ้นงานพลาสติกทำได้อย่างรวดเร็วย่อมส่งผลโดยตรงที่จะเพิ่มผลผลิตในการฉีดพลาสติกได้ ถ้าผู้ออกแบบแม่พิมพ์สามารถลดวัสดุให้ใช้น้อยลงและยังคงลดเวลาสำหรับการปลดชิ้นงานลงด้วยย่อมเป็นเรื่องที่ดีมาก

การเพิ่มระยะระบบปลดชิ้นงานพลาสติก

การเพิ่มระยะระบบปลดชิ้นงานพลาสติก

เราสามารถลดระยะทางในการกระทุ้งปลดชิ้นงานลงได้และลดความสูงของตัวรองแม่พิมพ์ได้โดยการสร้างชุดกลไก โดยชุดกลไกนี้จะใช้เฟืองในการส่งกำลังเมื่อเครื่องฉีดพลาสติกเริ่มกระทุ้งเพื่อปลดชิ้นงาน แผ่นรองจะมาดันให้ชุดเฟืองเริ่มเคลื่อนที่ส่งแรงผ่านเฟืองสะพานไปยังแท่นเฟืองชุดที่ 2 ซึ่งจะถูกยึดติดกับเข็มกระทุ้งทำให้เข็มกระทุ้งเลื่อนปลดชิ้นงาน ระยะทางในการปลดชิ้นงานจะถูกเพิ่มขึ้นจากการปลดแบบปกติ การออกแบบระบบนี้ผู้ออกแบบต้องคำนวณระยะในการเคลื่อนที่ของชุดฟันเฟืองให้ถูกต้อง ซึ่งหากมีการคำนวณระยะผิดพลาดจะเกิดความเสียหายอย่างมากกับชุดฟันเฟือง

แม่พิมพ์ฝาขวดน้ำแบบคลายเกลียว

ฝาขวดน้ำพลาสติกแบบมีเกลียว



ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณท์ประเภทขวดน้ำดื่มพลาสติกมักนิยมผลิตด้วยกรรมวิธีการเป่า ซึ่งกระบวนการเป่าพลาสติกมีหลากหลายวิธีการตามที่ได้เคยกล่าวไว้ในบทความที่ผ่านมา ขวดพลาสติกที่ใช้บรรจุเครื่องดื่มในปัจจุบันนิยมใช้เป็นแบบฝาเกลียวพลาสติก เนื่องจากใช้งานได้สะดวก,สามารถกันการรั่วซึมได้ดี และที่สำคัญมีราคาไม่แพง

ฝาพลาสติกที่ใช้ในท้องตลาดทุกวันนี้จะเป็นฝาแบบมีเกลียวภายในแทบทั้งหมด ในกระบวการผลิตฝาพลาสติก เมื่อเราฉีดพลาสติกหลอมเหลวเข้าสู่แม่พิมพ์ พลาสติกหลอมเหลวจะเข้าไปแทนที่ช่องว่างในแม่พิมพ์พลาสติก ทำให้เมื่อเวลาที่พลาสติกเย็นตัวลง เราจะไม่สามารถปลดชิ้นงานออกมาจากแม่พิมพ์ได้ เนื่องจากติดเกลียวของตัวฝาเอง ผู้ที่ออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกจะต้องทำการออกแบบระบบกลไกเพื่อใช้ในการปลดชิ้นงานพลาสติกออกจากแม่พิมพ์

การทำงานของแม่พิมพ์ชนิดนี้คือ ที่ตัวแกนแท่งเกลียวที่ใช้สำหรับขึ้นรูปฝา จะถูกยึดติดไว้กับฟันเฟือง ซึ่งตัวฟันเฟืองนี้จะขบกับแกนไฮดรอลิคหรือมอเตอร์ขับเพื่อใช้เป็นต้นกำลังในการปลดฝาพลาสติกออกจากแม่พิมพ์ ในแม่พิมพ์พลาสติกที่มีหลายหลุมการขับเคลื่อนแกนดังกล่าวต้องใช้แรงมากผู้ออกแบบควรคำนึงถึงกำลังในการขับเคลื่อนชุดกลไก เพื่อให้ชิ้นงานถูกปลดออกจากแม่พิมพ์ได้อย่างสมบูรณ์

แม่พิมพ์ฝาพลาสติก

แม่พิมพ์ฝาพลาสติก

ในขณะที่แกนที่ใช้ในการขึ้นรูปเกลียวหมุนไป ตัวฝาพลาสติกย่อมมีโอกาสที่จะหมุนตามแกนเกลียวดังกล่าวไปด้วย เพื่อป้องกันการผิดพลาดดังกล่าว ในด้านนอกของฝาพลาสติกจะทำเป็นลายขวางไว้เพื่อกันไม่ให้พลาสติกหมุนตามแกนขึ้นรูปเกลียว โดยฝั่งที่ขึ้นรูปด้านนอกของฝาพลาสติกจะสามารถเลื่อนไปมาในแม่พิมพ์ได้

งานฉีดพลาสติก2สี (Two Layer Injection Mold)

แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกแบบ 2 สี (2Layer Injection Mold)



ในงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติก บางชิ้นงานมีความจำเป็นต้องแยกชนิดของพลาสติกเพื่อประโยชน์ในการใช้งาน หรือเพื่อความสวยงาม เช่น ด้ามแปรงสีฟันหากเป็นพลาสติกชนิดเดียว เมื่อถูกน้ำจะทำให้ตัวพลาสติกลื่นทำให้จับไม่ถนัด จึงต้องทำการฉีดหุ้มวัสดุชนิดอื่นเข้าไป เพื่อให้จับใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น ,ในกรณีที่ชิ้นงานต้องถูกสัมผัสบ่อยหรืออาจถูกการเสียดสีบ่อยครั้ง ลำพังแค่การพิมพ์สีลงบนชิ้นส่วนพลาสติกอาจยังไม่ทนทานเพียงพอ การฉีดพลาสติกเป็น2สีจะช่วยเพิ่มความทนทานต่อการใช้งานได้มากกว่า เช่นชิ้นงานประเภทปุ่มโทรศัพท์ ฯลฯ

งานแม่พิมพ์ฉีดหุ้มพลาสติก เครื่องจักรที่ใช้สำหรับฉีดต้องถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งในส่วนของแม่พิมพ์ก็จะต้องทำเป็น 2 ชุดเช่นกัน

แม่พิมพ์พลาสติกฉีดหุ้ม

แม่พิมพ์ฉีดหุ้มพลาสติก

จากภาพด้านบน ในงานฉีดหุ้มพลาสติกจะมีแม่พิมพ์อยู่ 2 ชุด ซึ่งแม่พิมพ์ทั้ง 2 ชุดนี้ จะทำงานร่วมกัน ในจังหวะที่เริ่มทำการฉีดแม่พิมพ์จะเลื่อนเข้าหาหัวฉีดที่ 1 เพื่อฉีดพลาสติกเข้าสู่แม่แบบ เมื่อน้ำพลาสติกถูกเติมเต็มในโพรงแบบแล้ว ตัวแม่พิมพ์จะเลื่อนออก ในจังหวะที่เลื่อนออก ด้านฝั่งคอร์ของแม่พิมพ์หัวฉีดที่ 1 จะหมุนสลับไปสู่หัวฉีดที่ 2 เพื่อทำการฉีดหุ้มชิ้นงาน ในจังหวะเดียวกัน ชิ้นงานที่อยู่ในหัวฉีดที่ 2 ก็จะถูกดันปลด และหมุนกลับไปที่หัวฉีด 1 เพื่อเริ่มฉีดทำการฉีดต่อไป

ในกรณีที่ผู้ฉีดไม่มีเครื่องฉีดที่มีระบบสลับแม่พิมพ์ อาจใช้วิธีการฉีดสีเดียวทั้งหมดก่อน แล้วจึงสลับแม่พิมพ์อีกชุดเพื่อฉีดอีกสี แต่ในกรณีนี้ต้องใช้แรงงานเพื่อใส่ชิ้นงานที่ฉีดมาแล้วเข้าไปในแม่พิมพ์ ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น

แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกแบบมีอันเดอร์คัตภายใน

Mould Internal Undercut



อันเดอร์คัต ในงานแม่พิมพ์หมายถึง ส่วนใดๆของชิ้นงานที่เป็นร่องหรือบ่าภายในที่มีการกีดขวางการปลดชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ในแนวการเปิด-ปิดของเครื่องฉีดพลาสติก การปลดชิ้นงานที่มีอันเดอร์คัตภายในมีใช้หลายวิธี ผู้ออกแบบต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในการออกแแบบแม่พิมพ์ เพื่อลดปัญหาในการฉีดชิ้นงาน

โดยทั่วๆไปชิ้นงานที่มีอันเดอร์คัตภายในมักใช้ สลักขึ้นรูป และเป็นตัวปลดชิ้นงานในตัว โดยตัวสลักนี้มักจะออกแบบให้เคลื่อนที่เป็นแนวตรงหรือเคลื่อนที่ในแนวเฉียง ขึ้นอยู่กับลักษณะของชิ้นงานเป็นหลัก

สลักขึ้นรูปแนวเฉียง

สลักขึ้นรูปแนวเฉียง

หลักจากที่เครื่องฉีดพลาสติก ฉีดชิ้นงานเข้าสู่โพรงแบบจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว  ในขั้นตอนการปลดชิ้นงาน เครื่องฉีดจะดันปลดชิ้นงาน สลักขึ้นรูปจะถูกแรงจากเครื่องฉีด ดันให้เคลื่อนที่ในแนวเฉียงจนส่วนที่เป็นอันเดอร์คัตหลุดพ้นจากแนวการเคลื่อนที่ ทำให้สามารถปลดชิ้นงานออกมาได้

 

แม่พิมพ์ที่มีตัวเลื่อนด้านข้าง( Side Slide Injection Mould)

Side Slide Injection Mold แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกแบบมีตัวเลื่อนด้านข้าง



ในระหว่างการปลดชิ้นงาน ตัวเลื่อนจะถูกดันด้วย Angle Pin หรือลูกเบี้ยว บางครั้งด้วยลูกสูบไฮดรอลิคหรืออุปกรณ์พิเศษ ลักษณะทั่วไปของตัวเลื่อนด้านข้างคือ มีคอร์ด้านข้างหรือส่วนที่ขึ้นรูปด้านข้าง ประกอบอยู่กับตัวเลื่อน การทำงานตามรูปภาพด้านล่างนี้

แม่พิมพ์แบบมีตัวเลื่อนด้านข้าง

แม่พิมพ์แบบมีตัวเลื่อนด้านข้าง

โดยปกติจะใช้ angle pin ตามภาพด้านบน ขนาดของ angle pin จะกำหนดด้วยแรงจากการปลด น้ำหนักของตัวเลื่อน และแรงเสียดทาน ตามภาพในขณะที่แม่พิมพ์เลื่อนเปิด แรงนี้จะคำนวณได้จากการเคลื่อนที่ของวัตถุบนระนาบเอียง เมื่อเหล็กล้าเลื่อนไปบนหล็กกล้าจะเกิดการล็อคตัวเอง โดยปกติมุมเอียงดังกล่าวจะต้องมากกว่า 6 องศา เพื่อไม่ห้ตัว pin รับแรงมากจนเกินไป ในทางปฎิบัติ มุมเอียงที่ใช้กันจะอยู่ที่ 15-25องศา มุมเอียงมากทำให้การเลื่อนเปิดแม่พิมพ์ทำได้ง่ายขึ้น ขณะที่มุมเอียงน้อย จะใหเแรงประกบมากกว่า ผู้ออกแบบจะต้องคำนวณและกำหนดมุมที่เหมาะสม ซึ่งต้องพิจารณาถึงขนาดของแม่พิมพ์แรงประกบและแรงเปิดแม่พิมพ์ด้วย แรงที่กระทำสูงสุดจะอยู่ในจังหวะที่ตัวก้อน slide แยกออกจากชิ้นงานและแรงจะค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง

Finite Element ในงานแม่พิมพ์

การใช้ไฟไนต์เอลิเมนต์ช่วยวิเคราะห์การฉีดพลาสติก



ช่างแม่พิมพ์ในอดีตเมื่อต้องทำการออกแบบแม่พิมพ์ที่เป็นลักษณะ Family Mold หากชิ้นงานที่อยู่ภายในแม่พิมพ์ตัวเดียวกันมีความหนาบางของชิ้นงานไม่เท่ากัน เมื่อทำการฉีดพลาสติก มักจะเกิดปัญหาตามมา เช่น ความหนาแน่นของชิ้นงานแต่ละตัวไม่เท่ากัน,ชิ้นงานที่ไหลสะดวกกว่าจะเต็มก่อน  ทำให้ผู้ออกแบบแม่พิมพ์ มักจะกำหนดให้ทางเข้าน้ำพลาสติก มีขนาดเล็กไว้ก่อน จากนั้นเมื่อทำการปรับฉีด จึงค่อยๆขยายทางเข้าให้ใหญ่ขึ้น วิธีนี้สามารถใช้ได้ดี แต่ติดขัดเรื่องของเวลาที่ใช้ในการทดลอง และต้องทำการ ถอด-ติดตั้ง แม่พิมพ์บนเครื่องฉีดหลายครั้ง สูญเสียทั้งค่าแรงงานและเวลาที่ใช้ในการฉีด ในอดีตการแข่งขันทางการค้ายังไม่สูงเท่าปัจจุบันทำให้ยังพอที่จะใช้วิธีดังกล่าวได้ แต่ในปัจจุบันนี้ค่าแรงงานช่างฝีมือสูงขึ้นมาก หากใช้วิธีข้างต้นอาจต้องใช้เวลาหลายวันจึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการ

ในเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบใหม่ เราสามารถ simulation เพื่อดูแนวโน้มในการออกแบบของเรา ก่อนที่จะทำงานจริงได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขแม่พิมพ์ และยังช่วยร่นระยะเวลาในการผลิตแม่พิมพ์อีกด้วย

จากบทความตอนที่แล้ว ทาง Admin ได้ทำการจำลองการฉีดพลาสติกในแม่พิมพ์แบบ Family Mold จำนวน 2 คาวิตี้ ซึ่งชิ้นงานแต่ละชิ้นมีน้ำหนักไม่เท่ากัน จากการวิเคราะห์ทำให้ทราบได้ว่า หากออกแบบให้ทางเข้าน้ำพลาสติกมีขนาดเท่ากัน ด้านที่มีความหนาของเนื้อพลาสติกมากกว่าจะถูกเติมเต็มก่อน จึงได้ทำการปรับลดพื้นที่หน้าตัดของทางเข้าน้ำพลาสติกในส่วนที่ชิ้นงานมีความหนา และได้ขยายพื้นที่หน้าตัดของทางเข้าน้ำพลาติกในชิ้นงานด้านบาง

วิเคราะห์การฉีดพลาสติก

วิเคราะห์การฉีดพลาสติก

หลังจากปรับลด-ขยาย ช่องทางเข้าน้ำพลาสติกแล้ว ทำให้เวลาที่ใช้ในการฉีดพลาสติกเข้าสูุ่แม่พิมพ์ทั้ง2 คาวิตี้ สามารถเติมเต็มได้พร้อมกัน ประโยชน์ที่ได้รับคือ ผู้ออกแบบลดเวลาในการ Try-Out แม่พิมพ์ ส่วนเจ้าของผลิตภัณท์ก็ได้ชิ้นงานที่สมบูรณ์มากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบแม่พิมพ์ลงได้

การใช้ FEA เพื่อช่วย Balance runner

การสมดุลทางวิ่งแม่พิมพ์พลาสติก



ในการทำแม่พิมพ์พลาสติกที่ดี ควรจะต้องออกแบบให้สามารถฉีดชิ้นงานได้ง่ายและชิ้นงานที่ได้ออกมามีความสมบูรณ์ การออกแบบให้คาวิตี้เป็นรูปร่างสมมาตรเป็นสิ่งสำคัญ จะส่งผลให้แม่พิมพ์ฉีดได้ง่ายและไม่เกิดการบิดตัวของโครงสร้างแม่พิมพ์ ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องฉีดมีปัญหาได้ เนื่องจากการไหลเพื่อเติมเต็มของน้ำพลาสติกต่างกัน ในแม่พิมพ์แบบ Family Mold บางครั้งมีความจำเป็นที่จำต้องออกแบบให้ชิ้นงานที่มีความแตกต่างเรื่องความหนามาอยู่ด้วยกัน พลาสติกหลอมเหลวถือเป็นของไหลชนิดหนึ่ง ตามธรรมชาติของของไหลจะเข้าเติมเต็มส่วนที่ไหลได้ง่ายก่อน ในกรณีที่ทางวิ่งและรูเข้าน้ำพลาสติกมีขนาดเท่ากัน ในคาวิตี้ที่ชิ้นงานหนากว่าพลาสติกจะเข้าเติมเต็มได้เร็วกว่า ส่งผลให้ด้านคาวิตี้ที่บางกว่าชิ้นงานยังไม่เต็ม ผู้ปรับฉีดก็มักจะเพิ่มแรงดันฉีดมากขึ้นเพื่อหวังจะให้พลาสติกเข้าไปเติมเต็ม หากแรงดันฉีดที่ใช้ในการฉีดยังมีไม่มากพอที่จะเอาชนะแรงปิดแม่พิมพ์ชิ้นงานก็จะสามารถฉีดออกมาได้ แต่ความหนาแน่นของชิ้นงานทั้งสองจะไม่เท่ากัน ในทางกลับกันหากเพิ่มแรงดันฉีดมากขึ้น จนแรงดันฉีดเอาชนะแรงปิดแม่พิมพ์ได้ เนื้อพลาสติกก็จะแลบออกมาทางด้านข้างของชิ้นงาน

ในอดีตปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยช่างที่ชำนาญงานในการปรับแก้ไขทางน้ำพลาสติกเพื่อให้ น้ำพลาสติกสามารถเติมเต็มเข้าสู่คาวิตี้ได้พร้อมกัน ซึ่งบางครั้งก็อาศัยประสบการณ์เพียงอย่างเดียว ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการทดลองแม่พิมพ์เป็นจำนวนมาก

Filling-Animation

การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์การไหลของพลาสติก

ในปัจจุบันได้มีการใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในการผลิตมากขึ้นส่งผลให้ ผู้ออกแบบแม่พิมพ์สามารถทราบได้ล่วงหน้า และทำการออกแบบเพื่อลดปัญหาดังกล่าวลงได้ อย่างไรก็ดีการใช้ FEAเพื่อช่วยในการผลิต ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆเข้ามาทำการวิเคราะห์ด้วย เพื่อให้เกิดการทำนายที่แม่นยำที่สุด